วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552

บทคัดย่อนวัตกรรมทางการศึกษา

ชื่อวิทยานิพนธ์ การศึกษาการใช้หลักสูตรท้องถิ่นเมืองพิมาย ในโรงเรียนประถมศึกษา ตามทัศนะของผู้บริหารและครูผู้สอน
สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

ผู้ทำวิทยานิพนธ์ นายสมนึก มณี

ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา

คณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

รองศาสตราจารย์ละออง จันทร์เจริญ ประธานกรรมการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมทรง อัศวกุล กรรมการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ว่าที่ร้อยตรี กิติพันธ์ รุจิรกุล กรรมการ





บทคัดย่อ



การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษา และเปรียบเทียบทัศนะของผู้บริหารและครูผู้สอนเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรท้องถิ่นเมืองพิมายในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา จำแนกตามขนาดโรงเรียน โดยศึกษาใน 4 ด้านได้แก่ ด้านการเตรียมความพร้อม ด้านการเรียนการสอน ด้านผลการใช้หลักสูตรท้องถิ่นเมืองพิมาย และด้านการปรับปรุงหลักสูตรท้องถิ่นเมืองพิมายหลังการนำหลักสูตรไปใช้

9; การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยเก็บข้อมูลจากผู้บริหารและครูผู้สอนกลุ่มกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 – 6 จำนวน 177 คน จาก โรงเรียนในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอพิมาย 59 โรง ในปีการศึกษา 2544 แล้ววิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for Windows โดยการแจกแจงความถี่ คำนวณ ค่าร้อยละ (percentage) ค่าเฉลี่ย () ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (t –test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (one - way ANOVA)

ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ผู้บริหารและครูผู้สอนมีทัศนะเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรท้องถิ่นเมืองพิมาย ในด้าน การเตรียมความพร้อมและด้านการเรียนการสอนว่ามีการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง สำหรับด้านผลการใช้หลักสูตรท้องถิ่นเมืองพิมาย ผู้บริหารและครูผู้สอนมีทัศนะว่าหลักสูตรนี้บรรลุวัตถุประสงค์ของหลักสูตรในข้อที่ระบุว่า ผู้เรียนมีความรักและภาคภูมิใจชื่นชมและหวงแหนมรดกล้ำค่าทางศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนเป็นอันดับแรก ส่วนด้านการปรับปรุงหลักสูตรท้องถิ่นเมืองพิมายหลังการนำหลักสูตรไปใช้ พบว่า ส่วนประกอบต่างๆ ของหลักสูตรที่ผู้บริหารและครูผู้สอนมีทัศนะว่ามีความเหมาะสมในระดับปานกลางและมีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือคาบเวลาเรียนตามหลักสูตร

2. การเปรียบเทียบทัศนะของผู้บริหารเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรท้องถิ่นเมืองพิมาย จำแนกตามขนาดโรงเรียน พบว่า ไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ .05 ในด้านการเตรียม ความพร้อม และด้านการเรียนการสอน สำหรับด้านผลการใช้หลักสูตรท้องถิ่นเมืองพิมาย ผู้บริหารในโรงเรียนทั้ง 3 ขนาดมีทัศนะตรงกันว่าหลักสูตรนี้บรรลุวัตถุประสงค์ของหลักสูตรในข้อที่ระบุว่า ผู้เรียนมีความรัก และภาคภูมิใจชื่นชม และหวงแหนมรดกล้ำค่าทางศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น ของตนเป็นอันดับแรก ส่วนด้านการปรับปรุงหลักสูตรท้องถิ่นเมืองพิมายหลังการนำหลักสูตรไปใช้ พบว่า ผู้บริหารในโรงเรียนขนาดต่างกันมีทัศนะเกี่ยวกับความเหมาะสมในส่วนประกอบต่างๆ ของ หลักสูตรแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ .05 ในประเด็นของโครงสร้างเนื้อหาของหลักสูตร จุดประสงค์ของหลักสูตร แนวดำเนินการที่กำหนดไว้ในหลักสูตร และการวัดผลประเมินผล

3. การเปรียบเทียบทัศนะของครูผู้สอนเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรท้องถิ่นเมืองพิมาย จำแนกตามขนาดโรงเรียน พบว่าไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ .05 ในด้านการเตรียมความพร้อม และด้านการเรียนการสอน สำหรับด้านผลการใช้หลักสูตรท้องถิ่นเมืองพิมาย ครูผู้สอนในโรงเรียนทั้ง 3 ขนาดมีทัศนะตรงกันว่าหลักสูตรนี้บรรลุวัตถุประสงค์ของหลักสูตรในข้อที่ระบุว่าผู้เรียนมี ความรัก และภาคภูมิใจชื่นชม และหวงแหนมรดกล้ำค่าทางศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนเป็นอันดับแรก ส่วนด้านการปรับปรุงหลักสูตรท้องถิ่นเมืองพิมายหลังการนำหลักสูตรไปใช้ พบว่า ครูผู้สอนในโรงเรียนขนาดต่างกันมีทัศนะเกี่ยวกับความเหมาะสมในส่วนประกอบต่างๆ ของ หลักสูตรแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ .05 ในประเด็นของคาบเวลาเรียนตามหลักสูตร และการวัดประเมินผล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น